ความเชื่อ/ประเพณี

ความเชื่อ/ประเพณีของชาวตำบลเมืองลี

 

ประเพณีสืบชะตาข้าว
ในสมัยโบราณเมื่อรู้สึกว่าคนในครอบครัวกิน ข้าวเปลือง ข้าวเปลือก ในยุ้งพร่องลงไปมากผิดปกติ เจ้าของข้าวเกิดความกลัวว่าข้าวจะไม่พอกินจนถึงฤดูการเก็บเกี่ยวในปีต่อไป จึงจัดพิธีสืบชะตาข้าวขึ้น พิธีนี้เป็นพิธีมงคลที่สำคัญประการหนึ่ง  จึงต้องหาวันที่เป็นมงคลก่อน เชื่อว่าถ้าทำพิธีในวันที่ไม่เป็นมงคล   ขวัญข้าวจะไม่มารับเครื่องสังเวย  อนึ่งการสืบชะตาข้าวเป็นพิธีกรรมในการเรียกขวัญข้าวหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อเป็นการขอขมาและขอบคุณแม่โพสพหรือเทพีแห่งข้าว และยังเป็นพิธีที่เชื่อกันว่าจะทำให้ข้าวไม่หายและหมดไปจากยุ้งฉางเร็วอีกด้วย


เลี้ยงอาญาปัว
ในสมัยอดีตกาลการก่อตั้งตำบลเมืองลีเริ่มแรกโดยปกติชุมชนเริ่มแรกเป็นชนเผ่าลัวะขมุที่เดินทางมาจากทางสายเหนือคือ อำเภอปัว เข้ามาเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านเล็กๆ แต่สิ่งที่ผู้คนในสมัยนั้นได้นำมาคือ ระบบการปกครองผู้นำชนเผ่า หรือหัวหน้าหมู่บ้าน  สิ่งที่สามารถยึดเหนี่ยวความสัมพันธ์ในชุมชนคือ ต้องมีสิ่งที่ นำความเชื่อถือ ศักดิ์สิทธิ์ เคารพบูชา เป็นหลักในการดำรงชีวิต ในปัจจุบันการสักการบูชาอาชญาปัวมีการกำหนดการในการ บนบานศาลกล่าวไว้ 2 ครั้ง คือ เดือน 4 เหนือ ขึ้น 12 ค่ำ และ แรม 12 ค่ำ หรือเรียกตามภาษาพื้นบ้าน (การแก้บนของคนใน) เดือน 6 เหนือ ขึ้น 12 ค่ำ – แรม 12 ค่ำ ถือเป็นรอบการแก้บนโดยปกติ การแก้บนโดยทั่วไปสามารถบนบานศาลกล่าวได้ ทั้งเงิน(ของแดง)  หมู(ลักษณะสีดำเท่านั้น) และไก่ ก่อนที่อาชญาปัวจะมาเข้าทรงจะมีช่างซอ ช่างฟ้อน บรรเลงเพลงเพื่ออัญเชิญให้อาชญาปัวมาเข้าทรงที่ร่างทรง  ร่างทรงของอาชญาปัวจะเป็นผู้หญิงและการทำพิธีสักการะจะทำในช่วงบ่ายของวันนั้น ๆ  เมื่อเสร็จพิธีแก้บนแล้วจะมีการทำบายศรีสู่ขวัญให้กับร่างทรง โดยเชื่อกันว่าเป็นการเรียกขวัญของร่างทรงให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว หลังจากที่ขวัญได้ออกจากร่างไปในช่วงที่อาชญาปัวมาเข้าทรง


เลี้ยงอาญาหลวง
ในสมัยอดีตกาล อาชญาหลวงเริ่มมีบทบาทมากในการให้ ความเคารพเพราะอาชญาหลวงมีลักษณะการปกครอง ที่กว้างขวางทั้งในพื้นที่ของตำบลเมืองลีและตำบลปิงหลวง ลักษณะการปกครองมีทั้งการรวมตัวของบรรดาญาติพี่น้องจากชุมชนต่างๆ เหมือนการรวมญาติครั้งใหญ่  อาชญาหลวงจึงมีศาล (โฮงอาชญา) หลายแห่ง คือ ที่ตำบลเมืองลี ตั้งอยู่ที่บ้านนาหมอ หมู่ที่ 3 ตำบลปิงหลวง  ตั้งอยู่ที่ บ้านปิงหลวง หมู่ที่ 2 ในอดีตจนถึงปัจจุบันการบนบานศาลกล่าวจะแก้บนโดยเป็นเงิน (ของแดง) หรือบางคนบนบานโดยใช้สัตว์ใหญ่ (ควาย)


ไหว้สาผาช้าง
ตำบลเมืองลี มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพบูชาและมีพิธีทางศาสนาสืบเนื่องกันมานานแล้วก็คือ “ผาช้าง” ตั้งอยู่บ้านนาหมอ หมู่ที่ 3 ทุกเดือน 6 (เป็งเหนือ) จะมีการจัดงานไหว้สาผาช้างทุกๆปี   เพื่อเป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำตำบลเมืองลี และเป็นการสืบสานวัฒนธรรมจารีตประเพณีพื้นบ้าน ซึ่งจะมีการจุดบั้งไฟบูชาเพื่อเป็นการสักการะผาช้าง เนื่องจากมีความเชื่อว่าจะทำให้    ฝนตกตามฤดูกาล พืชผลไร่นาอุดมสมบูรณ์ ประเพณีไหว้สาผาช้างจะจัดขึ้นในวันวิสาขบูชาของทุกปี เนื่องจากวันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ  ได้ปรินิพพาน คือการดับขันธ์ของพระพุทธเจ้า


นมัสการพระธาตุเมืองลีศรีน้ำอูน
พระธาตุน้ำอูน ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2554 ซึ่งได้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างด้วยการบริจาคจากศรัทธาของ วัดน้ำอูนและผู้มีจิตศรัทธา เหตุผลที่พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันก่อสร้างก็เพื่อให้คณะศรัทธาวัดน้ำอูนได้สักการะบูชา เนื่องจากในพระธาตุได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คณะศรัทธามีความเห็นร่วมกันว่าจะร่วมกันทำบุญสักการะพระธาตุในวันมาฆบูชา (6 เป็งเหนือ) และมีความสำคัญทางพระพุทธศาสนาคือ เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรกและได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อมกันถึง 4 ประการ คือ   1. วันนั้นตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งพระจันทร์เสวกมาฆฤกษ์ 2. มีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 3. พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ 4. พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ เอหิภิกขุอุปสัมปทา และเพราะเกิดเหตุ 4 ประการข้างต้นทำให้วันมาฆบูชาเรียกอีกอย่างว่า วันจาตุรงคสันนิบาต


นมัสการพระธาตุ  วัดนาคายี่เป็ง
พระธาตุนาคาได้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2558 โดยได้รับเงินบริจาคจากพุทธศาสนิกชนในพื้นที่และนอกพื้นที่  ซึ่งเป็นศาสนสถานอีกแห่งของตำบลเมืองลี  และเป็นที่น่ายินดีสำหรับศรัทธาในพื้นที่  พระธาตุวัดนาคาแห่งนี้จึงเป็นจุดศูนย์รวมของการสักการบูชา  ทำให้ชาวตำบลเมืองลีได้มีโอกาสสรงน้ำพระธาตุและทำพิธีสักการะบูชา